(ภาพจากสถาบันอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณคดีกว่างซี : ใบหน้าของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นใหม่ (ขวา) และกระบวนการสร้างขึ้นใหม่โดยอิงจากกะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคแรกที่มีการค้นพบในบริเวณแหล่งถ้ำย่าหวย หมู่บ้านโป๋ล่าง อำเภอหลงอัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)
หนานหนิง, 30 มี.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์โบราณคดี (Journal of Archaeological Science) เปิดเผยว่านักวิทยาศาสตร์ในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนได้ใช้เทคโนโลยี 3 มิติสร้างใบหน้าของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 16,000 ปีก่อนได้สำเร็จ จากซากกะโหลกศีรษะของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบในบริเวณแหล่งถ้ำย่าหวย หมู่บ้านโป๋ล่าง อำเภอหลงอันในกว่างซี ที่มีการขุดค้นระหว่างปี 2015-2018
เมื่อสร้างออกมาแล้วภาพดังกล่าวเผยให้เห็นใบหน้ากลม ดวงตาเรียว ริมฝีปากค่อนข้างเต็ม และจมูกแบน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสามารถเป็นแนวทางเชิงเทคนิคและข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญสำหรับการศึกษาลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ยุคแรกๆ และวิวัฒนาการของใบหน้ามนุษย์ทางตอนใต้ของจีนได้
เซี่ยกวงเม่า นักวิจัยจากสถาบันอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณคดีกว่างซี ระบุว่าสุสานถ้ำย่าหวย ถือเป็นสุสานยุคหินเก่าแห่งที่สองที่มีการค้นพบในจีน ซึ่งซากกะโหลกดังกล่าวเป็นกะโหลกศีรษะมนุษย์ที่สมบูรณ์เพียงชิ้นเดียวที่พบในทางตอนใต้ของจีน ซึ่งสามารถกำหนดลำดับชั้นทางธรณีวิทยาและอายุได้อย่างแม่นยำ จึงมีคุณค่ามากต่อการศึกษาความหลากหลายของมนุษย์ยุคแรก แนวทางการอพยพและการติดต่อสื่อสารของประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพิธีกรรมการฝังศพในยุคหินเก่าตอนปลาย
อนึ่ง การสร้างใบหน้าใหม่ดังกล่าวดำเนินการในปี 2023 โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยครูกว่างซี มูลนิธิบริการสุขภาพแห่งชาติสำหรับเด็ก อัลเดอร์ เฮย์ (Alder Hey Children's NHS Foundation Trust) ในสหราชอาณาจักร สถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยาสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน สถาบันอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณคดีกว่างซี และมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง
เซี่ย ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าวระบุว่าทีมวิจัยใช้เทคนิคสร้างใบหน้าจากคอมพิวเตอร์ และดำเนินการฟื้นฟูใบหน้าด้วยความแม่นยำสูงโดยอาศัยความช่วยเหลือจากซอฟต์แวร์สร้างแบบจำลอง 3 มิติ
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยังใช้เทคนิคการวัดและวิเคราะห์รูปร่างทางเรขาคณิตในรูปแบบ 3 มิติ เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของรูปทรงเรขาคณิตระหว่างกะโหลกที่พบในถ้ำย่าหวยกับกะโหลกของมนุษย์ยุคใหม่
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่ากะโหลกศีรษะมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้นมีขนาดใหญ่กว่ากะโหลกผู้หญิงในปัจจุบัน แต่เล็กกว่ากะโหลกผู้ชายในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีรูปทรงเรขาคณิตของกะโหลกดังกล่าวมีรูปร่างใกล้เคียงกับกะโหลกของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน แต่มีสันหน้าผากที่สูงกว่า
เซี่ยระบุว่ากว่างซีถือเป็นประตูสำคัญที่เชื่อมเอเชียตะวันออกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การศึกษากะโหลกจากถ้ำย่าหวยช่วยให้เราเข้าใจลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ยุคแรกในทางตอนใต้ของจีน และมีความสำคัญต่อการศึกษาว่ามนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่นี้อพยพและกระจายตัวอย่างไร
อนึ่ง เมื่อปี 2024 นักวิจัยจากสถาบันโบราณวัตถุและโบราณคดีมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ สร้างใบหน้าของชายคนหนึ่งจากยุควัฒนธรรมหงซานในยุคหินใหม่ขึ้นผ่านเทคนิคดิจิทัล เปิดโอกาสให้ผู้คนในปัจจุบันได้เห็นภาพมนุษย์ยุคโบราณเมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน
(ภาพจากสถาบันอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณคดีกว่างซี : การวิเคราะห์ทางสัณฐานวิทยาแสดงภาพวิเคราะห์กะโหลกของมนุษย์ยุคแรกที่มีการค้นพบในบริเวณแหล่งถ้ำย่าหวย หมู่บ้านโป๋ล่าง อำเภอหลงอัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)
(ภาพจากสถาบันอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณคดีกว่างซี : แหล่งถ้ำย่าหวย หมู่บ้านโป๋ล่าง อำเภอหลงอัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)
(ภาพจากสถาบันอนุรักษ์โบราณวัตถุและโบราณคดีกว่างซี : กะโหลกของมนุษย์ยุคแรกที่มีการค้นพบในบริเวณแหล่งถ้ำย่าหวย หมู่บ้านโป๋ล่าง อำเภอหลงอัน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)