(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนขึ้นบันไดเลื่อนที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 11 พ.ค. 2021)
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟใต้ดินช่วงชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้าในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 3 ม.ค. 2023)
ปักกิ่ง, 18 ต.ค. (ซินหัว) -- รายงานฉบับหนึ่งเผยว่าใน 22 เมืองของจีนที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด เหล่าคนทำงานที่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำงานในแต่ละวันยังคงเผชิญความท้าทาย โดยประชากรกว่า 8 ล้านคนต้องนั่งรถไปทำงานไกลกว่า 50 กิโลเมตรต่อวัน
ผลการวิจัยดังกล่าวมาจากรายงานการติดตามการเดินทางในหลายเมืองใหญ่ของจีน ซึ่งเผยแพร่โดยสถาบันวิจัยภายใต้กระทรวงการเคหะและการพัฒนาเมือง-ชนบท ร่วมกับสถาบันการวางแผนและการออกแบบเมืองแห่งประเทศจีน
รายงานข้างต้นครอบคลุมเมืองใหญ่ 45 เมืองของจีนที่มีระบบขนส่งทางราง โดยเผยว่าในบรรดา 22 เมืองที่มีประชากรเกิน 5 ล้านคน ปักกิ่งมีสัดส่วนผู้อยู่อาศัยที่เดินทางไปทำงานไกลมากที่สุด ซึ่งร้อยละ 12 เดินทางไกลกว่า 50 กิโลเมตร รองลงมาคือกว่างโจวที่ร้อยละ 10
หากเป็นการเดินทางแบบเที่ยวเดียว ผู้คนในกรุงปักกิ่งร้อยละ 28 ใช้เวลาเดินทางนานกว่า 60 นาที เช่นเดียวกับผู้คนในเซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง เทียนจิน อู่ฮั่น และชิงเต่ากว่าร้อยละ 15
ตัวอย่างเช่นชายจีนแซ่ซุน วัย 46 ปี ทุกๆ วันทำงานตลอดสิบปีมานี้เขาจะออกจากบ้านตอนราว 06.00 น. ในเทียนจิน ซึ่งเป็นเขตเทศบาลใกล้ปักกิ่งที่มีประชากร 13.6 ล้านคน ก่อนขับรถไปยังที่จอดรถใกล้สถานีรถไฟเทียนจิน จากนั้นเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟความเร็วสูงและรถไฟใต้ดินเพื่อมุ่งหน้าไปที่ทำงานในปักกิ่ง ซึ่งเป็นการเดินทางเที่ยวเดียวที่กินเวลาเกือบสองชั่วโมง
"ผมใช้เวลาอยู่ข้างนอกประมาณ 12 ชั่วโมงทุกวัน แต่ว่ามันไม่มีทางเลือกอื่น" ซุนกล่าว พร้อมเสริมว่าเขาเลือกที่จะเดินทางไปทำงานแทนการเช่าอะพาร์ตเมนต์สักห้องในปักกิ่ง เพราะต้องการอยู่กับลูกที่เรียนมัธยมต้นในเทียนจิน
สำหรับคนทำงานที่เดินทางไกลจำนวนมากแบบซุนในหลายเมืองใหญ่ บริการขนส่งทางรางยังคงต้องได้รับการปรับปรุง
แม้ใน 42 เมืองกลุ่มสำรวจที่มีบริการรถไฟใต้ดินจะมีระบบขนส่งทางรางที่เปิดดำเนินการอยู่กว่า 10,000 กิโลเมตร แต่มีผู้คนเพียงหนึ่งในห้าที่อาศัยและทำงานภายในระยะ 800 เมตรจากสถานี ซึ่งการลงทุนก่อสร้างระบบขนส่งทางรางทุกๆ 4.3 แสนหยวน (ราว 2 ล้านบาท) จะทำให้มีผู้คนเพิ่มเข้ามาในรัศมี 800 เมตรนี้เพียงคนเดียวเท่านั้น
กัวจี้ฝู ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่งปักกิ่ง อธิบายว่าเมืองใหญ่ที่มีสัดส่วนอุตสาหกรรมขั้นตติยภูมิสูงกว่า มักพบว่าการสร้างสมดุลระหว่างที่ตั้งของสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะแม้เหล่านักวางแผนจะมีภาพในอุดมคติ แต่ความเป็นจริงแล้วสถานที่ทำงานซึ่งอยู่แยกกับที่อยู่อาศัยยังคงพบได้ทั่วไปในหลายเขตเมือง
กัวเสนอมาตรการต่างๆ เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การเดินทาง เช่น การบูรณาการระบบขนส่งทางรางกับการพัฒนาเมือง การสร้างระบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนให้นายจ้างจัดหาที่อยู่อาศัยและนำรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นมาใช้
หยางเจิง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่าเทรนด์การใช้ชีวิตและทำงานในหลายเมืองของจีนนั้นมีเอกลักษณ์และอาจแตกต่างจากชาวตะวันตก และปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงศักยภาพในระยะยาว
"สารพัดกลยุทธ์ เช่น การรวมกลุ่มเมืองเข้าด้วยกัน กำลังช่วยปรับปรุงการขนส่งและสร้างความยืดหยุ่นให้กับคนหนุ่มสาวมากขึ้น ซึ่งเอื้อให้พวกเขาสามารถทำงานในเมืองต่างๆ ได้โดยไม่ต้องอาศัยอยู่ในใจกลางเมืองหลัก" หยางกล่าว
สำหรับซุนแล้ว การเดินทางไปทำงานที่กินเวลานานหลายชั่วโมงเป็นส่วนผสมระหว่างความสุขและความเหนื่อยล้า เขามักงีบหลับสั้นๆ จัดการงานในโทรศัพท์ และดูวิดีโอสั้นๆ เป็นครั้งคราวระหว่างเดินทาง และเล่าทิ้งท้ายว่าตนสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้มากมายระหว่างเดินทาง และคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปแล้ว