ซิดนีย์, 1 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ วารสารไซเอนซ์ (Science) เผยแพร่ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซลของเกาหลีใต้ ซึ่งประมวลข้อมูลความชื้นในดินทั่วโลกจากดาวเทียม การวัดระดับน้ำทะเล และการสังเกตการเคลื่อนไหวของขั้วโลก เพื่อประเมินแหล่งน้ำบนบก (TWS) ของโลกตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
แหล่งน้ำบนบกประกอบด้วยความชื้นในดิน น้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งความชื้นในดินทั่วโลกลดลงราว 1,614 กิกะตันระหว่างปี 2000-2002 โดยการศึกษานี้ค้นพบการลดลงขั้นรุนแรงที่มิอาจย้อนคืนของแหล่งน้ำบนบก ซึ่งมีแนวโน้มว่าเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝนตกและอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนเกิดการระเหยของน้ำเพิ่มขึ้น
ความชื้นในดินลดลงเพิ่มเติม 1,009 กิกะตันระหว่างปี 2003-2016 โดยปราศจากสัญญาณการฟื้นตัวจนถึงปี 2021 ทำให้คณะนักวิทยาศาสตร์เตือนว่าสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันอาจทำให้ไม่มีการฟื้นตัวในอนาคต พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงแบบจำลองภูมิอากาศ และพิจารณาปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การเกษตร การชลประทานขนาดใหญ่ และการสร้างเขื่อน
ดงริยอล รยู และคี-วอน ซอ ผู้เขียนผลการศึกษา กล่าวว่าการลดลงของแหล่งน้ำบนบกเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบฝนตกและการระเหยของน้ำที่เพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น โดยการสูญเสียแหล่งน้ำบนบกยังมีส่วนส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 4.4 มิลลิเมตร ควบคู่กับการเคลื่อนที่ของขั้วโลกเปลี่ยนแปลงราว 45 เซนติเมตร
(แฟ้มภาพซินหัว : บ้านริมผาในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ วันที่ 19 มิ.ย. 2024)