(แฟ้มภาพซินหัว : คนเดินข้ามถนนในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น วันที่ 22 ม.ค. 2021)
โตเกียว, 25 ก.พ. (ซินหัว) -- ผลสำรวจจากโตเกียว โชโก รีเสิร์ช (Tokyo Shoko Research) ของญี่ปุ่น ซึ่งรวบรวมคำตอบจากบริษัทกว่า 5,400 แห่งทั่วประเทศ พบว่าราวร้อยละ 85.2 ของบริษัทในญี่ปุ่นวางแผนปรับขึ้นค่าจ้างในปีงบการเงินหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับผลสำรวจของปี 2024 หลังจากการเจรจาค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิประจำปีมีความคืบหน้า
รายงานระบุว่าร้อยละ 92.8 ของบริษัทขนาดใหญ่ และร้อยละ 84.6 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วางแผนปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่าง 8 จุด โดยเหตุผลหลักของการปรับขึ้นค่าจ้างคือป้องกันพนักงานลาออก (ร้อยละ 78) รับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 71.7) และดึงดูดพนักงานใหม่ (ร้อยละ 50.1)
ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่วางแผนปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 5 มากที่สุด (ร้อยละ 32.2 ของกลุ่มสำรวจ) ส่วนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวางแผนปรับขึ้นค่าจ้างร้อยละ 3 มากที่สุด
วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่ได้วางแผนปรับขึ้นค่าจ้างอ้างเหตุผลต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าวัสดุและค่าไฟ โดยพวกเขามองว่าการส่งต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ไปยังผู้บริโภคเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก