แคนเบอร์รา, 14 ก.พ. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียพัฒนาระบบเฝ้าติดตามด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบเรียลไทม์ เพื่อปกป้องแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งเป็นแนวปะการังใหญ่ที่สุดในโลก จากภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics) เมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.พ.) ระบุว่าระบบเฝ้าติดตามระดับโลกนี้มุ่งชะลอความเสียหายของแนวปะการังจากปรากฏการณ์ฟอกขาว ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟเสียหายอย่างหนักจากการฟอกขาวรุนแรงตั้งแต่ปี 2016 สถานการณ์นี้เลวร้ายลงจากการระบาดของดาวมงกุฏหนามและการพัฒนาพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอทีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ เผยว่าแนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบางที่สุดในโลก และกำลังล้มตายในอัตรารวดเร็วจนน่าตกใจ โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา แนวปะการังถึงร้อยละ 75 ต้องเผชิญภาวะความเครียดจากความร้อนในระดับที่ทำให้เกิดการฟอกขาว
อับดุลลาฮี โชวดูรี นักวิเคราะห์ข้อมูลและหัวหน้านักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยเซาธ์ออสเตรเลีย กล่าวว่าโมเดลแบบรวมศูนย์เดียวจะผสานรวมปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง และให้ข้อมูลคาดการณ์แบบเรียลไทม์แก่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โครงการนี้บูรณาการเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลเข้ากับการเรียนรู้ของเครื่องจักร ปัญญาประดิษฐ์ และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการปกป้องแนวปะการัง
ปัจจุบันมีโมเดลแบบแยกหลายตัวที่วิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับสุขภาพของแนวปะการัง เช่น ระดับการฟอกขาว การเกิดโรค ความหนาแน่นของปะการังวัยอ่อน และจำนวนปลาที่อาศัยในแนวปะการัง แต่ยังไม่มีการบูรณาการชุดข้อมูลเหล่านี้เข้าด้วยกัน
อนึ่ง แนวปะการัง ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น "ป่าฝนแห่งท้องทะเล" ครอบคลุมพื้นที่เพียงร้อยละ 1 ของมหาสมุทรทั่วโลก แต่เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทางทะเลถึงร้อยละ 25 โดยแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ถือเป็นหนึ่งในทรัพย์สินทางนิเวศวิทยาและการท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดของออสเตรเลีย
(แฟ้มภาพซินหัว : แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟในรัฐควีนสแลนด์ของออสเตรเลีย วันที่ 2 มิ.ย. 2021)