(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเดินในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย วันที่ 27 ก.ค. 2022)
ซิดนีย์, 1 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียเผยแพร่ผลการศึกษาที่ค้นพบว่าตัวบ่งชี้การอักเสบในเลือดของผู้มีภาวะลองโควิด (long COVID) หลังจากป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อาจอธิบายสาเหตุที่ผู้มีภาวะลองโควิดจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
ผลการศึกษาระบุว่าการตรวจสอบตัวอย่างเลือดที่เก็บจากประชาชนหลังจากติดเชื้อไวรัสฯ ราว 18 เดือน พบการเพิ่มขึ้นของไซโตไคน์ (cytokine) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ควบคุมการอักเสบในร่างกาย โดยไซโตไคน์ส่งผลกระทบตรงต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อของหัวใจที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด
เคิร์สตี ชอร์ต สมาชิกทีมวิจัยจากคณะเคมีและชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการที่ไซโตไคน์สร้างความเสียหายแก่เซลล์เฉพาะเหล่านี้ ซึ่งเปรียบดังเสาหลักพื้นฐานของหัวใจ อาจนำสู่อาการผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยการค้นพบนี้มอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะลองโควิดและอาจเป็นโอกาสปรับปรุงการวินิจฉัย-รักษา และเพิ่มความเข้าใจ
อนึ่ง การศึกษานี้ร่วมดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส มหาวิทยาลัยแอดิเลด มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และสถาบันวิจัยทางการแพทย์ชั้นนำหลายแห่ง โดยทีมวิจัยวิเคราะห์เลือดของผู้เข้าร่วม 50 คน ซึ่งเผชิญภาวะลองโควิดมานานเกินหนึ่งปี หายป่วยจากโรคโควิด-19 หรือไม่เคยติดเชื้อไวรัสฯ เลย
ชอร์ตเสริมว่าปัจจุบันทีมวิจัยอยากรู้ว่าสามารถประยุกต์ใช้ผลการศึกษานี้กับอาการอื่นๆ ของภาวะลองโควิด เช่น โรคทางระบบประสาทหรือโรคทางเดินหายใจ ได้หรือไม่ เนื่องจากมีการคัดเลือกผู้มีอาการเจ็บหน้าอกและ/หรือใจสั่นเข้าร่วมการศึกษานี้ด้วย
ด้านผลการศึกษาอีกฉบับจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ซิดนีย์ เมื่อเดือนสิงหาคม ประเมินว่าคนวัยทำงานที่เผชิญภาวะลองโควิดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย 9.6 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (ราว 2.14 แสนล้านบาท) ในปี 2022