(แฟ้มภาพซินหัว : ค้างคาวหางยาวสองตัวที่ถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติในนิวซีแลนด์)
เวลลิงตัน, 31 ต.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของนิวซีแลนด์ได้ติดตั้ง "กล่องค้างคาว" (bat boxes) จำนวน 80 กล่องที่เป็นเสมือนที่พักพิงเทียมบนต้นไม้ทางตอนใต้ของเมืองแฮมิลตัน เพื่อปกป้องประชากรค้างคาวหางยาว (long-tailed bats) ท้องถิ่น ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
ผลการวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสารนิวซีแลนด์ เจอร์นัล ออฟ ซูโลจี (New Zealand Journal of Zoology) ในวันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) ระบุว่านักวิจัยได้เก็บตัวอย่างบริเวณทางเข้ากล่องค้างคาวเพื่อค้นหาร่องรอยของสารพันธุกรรม เพื่อดูว่าค้างคาวชนิดไหนมาพักอาศัยอยู่บ้าง ก่อนจะพบดีเอ็นเอ (DNA) ของค้างคาวหางยาวจากกล่องหนึ่งในสาม
ฟิโอน่า เดวีส์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคทรัพยากรธรรมชาติของเออีคอม นิวซีแลนด์ (AECOM NZ) บริษัทที่ปรึกษาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ ระบุว่าการสำรวจอีดีเอ็นเอ (eDNA) จากกล่องค้างคาวระหว่างการศึกษาครั้งนี้เป็นวิธีการที่ไม่รุกล้ำ ซึ่งยืนยันได้ว่ามีค้างคาวมาพักพิงอยู่ในกล่องค้างคาวภายในสองปีหลังจากการติดตั้งกล่อง
เดวีส์กล่าวว่าการศึกษาลักษณะนี้มีความสำคัญต่อการยืนยันว่ากล่องเหล่านี้มีประสิทธิภาพสำหรับการอนุรักษ์ค้างคาว
ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าวิธีการสำรวจอีดีเอ็นเอมีประสิทธิภาพสูงมาก สามารถตรวจพบดีเอ็นเอของค้างคาวหางยาวได้จากกล่องที่มีการเก็บตัวอย่างร้อยละ 34 ซึ่งยืนยันได้ว่าค้างคาวหางยาวกำลังใช้งานกล่องพวกนี้อยู่