(แฟ้มภาพซินหัว : ทีมกู้ภัยดำเนินการค้นหาและกู้ภัยที่จุดเกิดเหตุดินถล่มในย่านที่อยู่อาศัยในจังหวัดบาตังกัสของฟิลิปปินส์ วันที่ 25 ต.ค. 2024)
มะนิลา, 31 ต.ค. (ซินหัว) -- วันพฤหัสบดี (31 ต.ค.) รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกลดลงร้อยละ 17 ภายในปี 2070
รายงานสภาพภูมิอากาศเอเชีย-แปซิฟิกระบุว่าระดับน้ำทะเลหนุนสูงและผลิตภาพแรงงานที่ลดลงอาจก่อให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ โดยกลุ่มประเทศเศรษฐกิจรายได้ต่ำและเปราะบางจะได้รับผลกระทบหนักหน่วงที่สุด
หากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง มีแนวโน้มว่าประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวมากถึง 300 ล้านคนอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมชายฝั่ง ขณะที่สินทรัพย์ชายฝั่งอาจได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทุกๆ ปีภายในปี 2070
มาซัตสึกุ อาซากาวะ ประธานธนาคารฯ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศที่มีการประสานงานอย่างดี โดยชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความเสียหายจากพายุโซนร้อน คลื่นความร้อน และน้ำท่วมในภูมิภาคดังกล่าวรุนแรงยิ่งขึ้น และส่งผลให้เกิดความท้าทายทางเศรษฐกิจและการทนทุกข์ของมนุษย์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
รายงานดังกล่าวพบว่าประชาชนในภูมิภาคสนับสนุนการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะที่การศึกษาการรับรู้ใส่ใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของธนาคารฯ ปี 2024 เผยว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 91 จากกลุ่มประเทศระดับภูมิภาค 14 แห่ง มองว่าภาวะโลกร้อนเป็นปัญหารุนแรง ซึ่งหลายคนต้องการให้รัฐบาลดำเนินงานเพิ่มเติม
รายงานเสริมว่าจำเป็นต้องเร่งตอบสนองต่อการปรับตัวเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่สูงขึ้น และจำเป็นต้องยกระดับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) ที่มุ่งเน้นการปรับตัว
รายงานประเมินความต้องการลงทุนประจำปีสำหรับนานาประเทศในภูมิภาคเพื่อการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน อยู่ที่ระหว่าง 1.02-4.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.44-14.53 ล้านล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.15 ล้านล้านบาท) ที่บันทึกไว้ในปี 2021-2022 อย่างมาก
การปฏิรูปกฎระเบียบของรัฐบาล และการรับรู้ถึงความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่มากขึ้น กำลังช่วยดึงดูดแหล่งเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศใหม่ๆ จากภาคเอกชน แต่ยังคงจำเป็นต้องมีกระแสการลงทุนจากภาคเอกชนในจำนวนที่มากกว่านี้อีกมาก
สำหรับการบรรเทาผลกระทบ รายงานข้างต้นเผยว่าภูมิภาคแห่งนี้มีความพร้อมที่ดีในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ขณะที่ความก้าวหน้าด้านตลาดคาร์บอนในประเทศและต่างประเทศสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศได้อย่างคุ้มทุน