เจิ้งโจว, 14 มี.ค.(ซินหัว) -- หลี่ซื่อเหวย นักวิจัยประจำสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งกำกับดูแลการขุดสำรวจซากโบราณหลิวจวงในอำเภอไท่คังของเมืองโจวโข่ว เปิดเผยว่าซากกำแพงเมืองโบราณที่ขุดพบในซากโบราณหลิวจวงมีความเก่าแก่ย้อนกลับถึงยุคต้นราชวงศ์เซี่ย (2070-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
รายงานระบุว่าซากโบราณหลิวจวงครอบคลุมพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร ส่วนกำแพงดินอัดโบราณตั้งอยู่ที่อำเภอไท่คัง ซึ่งถูกตั้งชื่อตามจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เซี่ย โดยมีการขุดพบกำแพง 4 ด้าน ทั้งทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ และทิศใต้ ขนาดกว้าง 2.6-3.4 เมตร ซึ่งด้านนอกของกำแพงมีแนวป้องกันแบบลาดเอียงหลายชั้น
กำแพงทั้งสี่ด้านประกอบเป็นเมืองรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมฉากแบบปิด ขนาดกว้าง 100 เมตร และยาว 126 เมตร โดยมีช่องว่างกลางกำแพงทิศใต้ที่คณะนักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นประตูหรือทางเข้าเมือง ขณะผลตรวจสอบอายุด้วยคาร์บอน-14 ล่าสุดชี้ว่ากำแพงถูกก่อสร้าง ใช้งาน และทิ้งร้างระหว่าง 1964-1833 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งตรงกับช่วงต้นราชวงศ์เซี่ย
คณะนักโบราณคดียังค้นพบซากบ้านเรือน 16 หลัง ซึ่งมีความเก่าแก่ย้อนกลับถึงช่วงปลายวัฒนธรรมหลงซาน (Longshan Culture) อารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองทางตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำเหลือง รวมถึงขุดพบเตาเผาเครื่องปั้นดินเผา บ่อน้ำ และโบราณวัตถุอย่างเครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระดูก และเครื่องมือหิน
หลี่เสริมว่าการค้นพบครั้งนี้มอบข้อมูลใหม่สำหรับการสำรวจเทคนิคทางสถาปัตยกรรม แผนผัง และวิวัฒนาการของรูปแบบการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เมืองขนาดเล็กช่วงปลายวัฒนธรรมหลงซาน
อนึ่ง ซากโบราณหลิวจวงเป็นหนึ่งในกลุ่มซากโบราณยุคราชวงศ์เซี่ยที่ค้นพบในพื้นที่ทางตะวันออกของเหอหนานในช่วงหลายปีมานี้ โดยคณะนักวิจัยระบุว่าการค้นพบซากโบราณเหล่านี้มีส่วนส่งเสริมการศึกษาการตั้งถิ่นฐาน สังคม และกระบวนการทางอารยธรรมในภูมิภาคช่วงต้นราชวงศ์เซี่ย
(ภาพจากสถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน : พื้นที่บางส่วนของซากโบราณหลิวจวงในอำเภอไท่คัง เมืองโจวโข่ว มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)