(แฟ้มภาพซินหัว : พิธีเปิดตัวสถานีฉินหลิ่งของจีนในแอนตาร์กติกา วันที่ 7 ก.พ. 2024)
ปักกิ่ง, 3 มี.ค. (ซินหัว) -- ระบบจ่ายไฟแบบผสมผสานของสถานีฉินหลิ่งของจีนในแอนตาร์กติกา ซึ่งผสมผสานพลังงานลม แสงอาทิตย์ ไฮโดรเจน และพลังงานดีเซล เริ่มต้นการดำเนินงานแล้ว นับเป็นการเปิดตัวระบบจ่ายไฟแบบผสมผสานในทวีปหนาวเย็นสุดขั้วแห่งนี้เป็นครั้งแรก
ข้อมูลจากทีมสำรวจแอนตาร์กติกาครั้งที่ 41 ของจีน เผยว่ามีการติดตั้งระบบผลิตพลังงานลมขนาด 100 กิโลวัตต์ ระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 130 กิโลวัตต์ ระบบพลังงานไฮโดรเจนขนาด 30 กิโลวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงานในแบตเตอรี่อุณหภูมิต่ำขนาด 300 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบผลิตพลังงานดีเซล และระบบควบคุมไฟฟ้าในร่มที่สถานีดังกล่าว
ระบบไฮบริดยังเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าและผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การทำงานของระบบจ่ายไฟนี้มุ่งเน้นไปที่พลังงานสะอาด
ระบบจ่ายไฟข้างต้นถือเป็นระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ติดตั้งอยู่ในสถานีวิจัยแอนตาร์กติกาของจีนในปัจจุบัน และมีสัดส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์และลมสูงกว่าร้อยละ 60 ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงฟอสซิลได้กว่า 100 ตันต่อปี
กรณีไม่มีลมและแสงแดด ระบบดังกล่าวสามารถจ่ายไฟให้กับสถานีฉินหลิ่งได้ราว 2.5 ชั่วโมง ด้วยกำลังโหลดสูงสุด 150 กิโลวัตต์ ระบบพลังงานไฮโดรเจนที่ติดตั้งเต็มรูปแบบของสถานีฯ ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าต่อเนื่อง 30 กิโลวัตต์ นานถึง 14 วันช่วงพระอาทิตย์ไม่ขึ้น 24 ชั่วโมง (polar nights)
สถานีฉินหลิ่งในแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นสถานีวิจัยแห่งที่ 5 ของจีนในทวีปนี้ เริ่มต้นการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2024 โดยก่อนมีสถานีฉินหลิ่ง จีนได้จัดตั้งฐานวิจัยในแอนตาร์กติกา 4 แห่ง ตลอดช่วงเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ สถานีกำแพงเมืองจีน สถานีจงซาน สถานีคุนหลุน และสถานีไท่ซาน