ปักกิ่ง, 28 ก.พ. (ซินหัว) -- การศึกษาตัวอย่างดวงจันทร์ที่เก็บรวบรวมโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีน ได้พิสูจน์สมมติฐานที่ว่าครั้งหนึ่งดวงจันทร์ทั้งดวงเคยปกคลุมด้วย "มหาสมุทรแมกมา" ที่หลอมละลาย ในยุคแรกหลังจากถือกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการทำความเข้าใจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของดวงจันทร์
ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-6 ของจีนรวบรวมตัวอย่างจากด้านไกลของดวงจันทร์ได้ 1,935.3 กรัม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยเก็บตัวอย่างจากแอ่งอะพอลโลภายในแอ่งขั้วใต้เอตเคน ซึ่งในจำนวนนี้มีตัวอย่าง 2 กรัมถูกส่งต่อให้ทีมวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตธรณีวิทยาของจีนเพื่อใช้ในการวิจัย
หลิวตุนอี นักวิจัยอาวุโสของสถาบันฯ เผยว่าการศึกษาดังกล่าวชี้ว่าองค์ประกอบของหินบะซอลต์ (หินภูเขาไฟชนิดหนึ่ง) ทั้งจากด้านไกลและด้านใกล้ของดวงจันทร์นั้นมีความคล้ายคลึงกัน หินบะซอลต์ที่พบในตัวอย่างจากยานฉางเอ๋อ-6 นั้นมีอายุราว 2.823 พันล้านปี และมีลักษณะเฉพาะที่สนับสนุนแบบจำลองมหาสมุทรแมกมาบนดวงจันทร์อีกด้วย นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์การพุ่งชนที่ก่อให้เกิดแอ่งขั้วใต้เอตเคนอาจส่งผลให้ชั้นแมนเทิลหรือชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ในช่วงแรกเปลี่ยนแปลงไป
หลิวอธิบายว่าก่อนหน้านี้แบบจำลองมหาสมุทรแมกมาของดวงจันทร์ถูกสร้างขึ้นโดยอาศัยตัวอย่างจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ โดยแบบจำลองเสนอว่าดวงจันทร์ที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ผ่านกระบวนการหลอมละลายทั่วดวงดาวจนทำให้เกิดมหาสมุทรแมกมาขนาดใหญ่ เมื่อมหาสมุทรนี้เย็นตัวลง แร่ธาตุที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าได้ลอยขึ้นมาที่พื้นผิวเพื่อก่อตัวเป็นเปลือกดวงจันทร์ ส่วนแร่ธาตุที่หนาแน่นมากกว่าจมลงเพื่อก่อตัวเป็นชั้นแมนเทิล ขณะแร่ธาตุหลอมละลายที่เหลือซึ่งมีส่วนประกอบที่เข้ากันไม่ได้ก่อตัวเป็นชั้น KREEP ซึ่งชื่อมีที่มาจากตัวอักษรย่อของส่วนประกอบหลัก ได้แก่ โพแทสเซียม (K) โลหะหายาก (REE) และฟอสฟอรัส (P)
อย่างไรก็ดี ตัวอย่างจากดวงจันทร์ทั้งหมดล้วนมาจากด้านใกล้ของดวงจันทร์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้แบบจำลองไม่สมบูรณ์ ทว่าตัวอย่างจากด้านไกลที่เก็บรวบรวมโดยยานฉางเอ๋อ-6 ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์นี้ไป
การวิเคราะห์เผยว่าชั้น KREEP มีอยู่บนด้านไกลของดวงจันทร์เช่นกัน องค์ประกอบของบะซอลต์ที่คล้ายคลึงกันระหว่างด้านไกลและด้านใกล้บ่งชี้ว่ามหาสมุทรแมกมาอาจกินพื้นที่ทั่วทั้งดวงจันทร์
แอ่งขั้วใต้เอตเคน ซึ่งเป็นจุดที่ยานฉางเอ๋อ-6 ลงจอดนั้นไม่ใช่หลุมอุกกาบาตธรรมดา ร่องรอยขนาดมหึมาที่เกิดจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยเมื่อ 4.3 พันล้านปีก่อนนั้นมีความยาว 2,500 กิโลเมตร เท่ากับระยะทางจากปักกิ่งไปยังเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน และกินเนื้อที่ลึกลงไป 13 กิโลเมตร ถือเป็นแอ่งจากการพุ่งชนที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะชั้นใน
หลงเทา นักวิจัยอาวุโสประจำทีม เผยว่าการศึกษาใหม่นี้ยังเผยให้เห็นว่าวิวัฒนาการของไอโซโทปตะกั่วในหินบะซอลต์จากด้านไกลและด้านใกล้ของดวงจันทร์นั้นแตกต่างกัน บ่งชี้ว่าภูมิภาคต่างๆ ของดวงจันทร์วิวัฒนาการแตกต่างกันหลังจากที่มหาสมุทรแมกมาตกผลึก โดยเหตุการณ์การพุ่งชนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดแอ่งขั้วใต้เอตเคนน่าจะทำให้คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของชั้นแมนเทิลของดวงจันทร์เปลี่ยนแปลงไป
"อาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าดวงจันทร์เคยถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทรแมกมา แต่การพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในเวลาต่อมาทำให้เกิดกระบวนการวิวัฒนาการที่แตกต่างกันในด้านใกล้และไกลของดวงจันทร์" หลงระบุเพิ่มเติม
อนึ่ง การศึกษานี้ซึ่งนำโดยทีมวิจัยร่วมซึ่งจัดโดยองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ได้รับการเผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ (Science) ฉบับล่าสุด
(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตธรณีวิทยาของจีน จัดเตรียมตัวอย่างดวงจันทร์ที่เก็บรวบรวมโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 ในกรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 26 ก.พ. 2025)
(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพถ่ายที่ถูกส่งกลับมายังโลกโดยอัตโนมัติจากยานสำรวจพื้นผิวขนาดเล็กของส่วนประกอบยานลงจอด-ยานพุ่งขึ้นของยานอวกาศฉางเอ๋อ-6 แสดงภาพส่วนประกอบดังกล่าวบนพื้นผิวดวงจันทร์ วันที่ 3 มิ.ย. 2024)
(แฟ้มภาพซินหัว : ตัวอย่างดวงจันทร์ที่เก็บรวบรวมโดยยานสำรวจฉางเอ๋อ-6 ของจีน)