(แฟ้มภาพซินหัว : หอระฆังจากเนินเขาจิ่งซานบนแกนกลางปักกิ่งในกรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 12 ส.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 18 ก.พ. (ซินหัว) -- วันอังคาร (18 ก.พ.) รายงานหัวข้อ "การส่งเสริมการพัฒนาและความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ผ่านการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน" จากสถาบันซินหัว หน่วยงานคลังสมองของสำนักข่าวซินหัว ระบุว่าจีนมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นและได้นำเสนอแนวทางของจีนสำหรับการแก้ไขความท้าทายระดับโลก เช่น ความยากจนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในแง่ของแนวคิดและการปฏิบัติจริง
ภายในปี 2020 โครงการรณรงค์ขจัดความยากจนครั้งใหญ่ของจีนได้ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ชนบท จำนวน 98.99 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในการต่อสู้กับความยากจน ประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารจัดการเศรษฐกิจระหว่างประเทศเช่นกัน
รายงานระบุว่าในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จีนได้เชื่อมโยงการเติบโตของประเทศเข้ากับการพัฒนาระดับโลกอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด อีกทั้งให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่า 6,000 โครงการในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง
ข้าวลูกผสมของจีนถูกนำไปเพาะปลูกในประเทศเกือบ 70 แห่งใน 5 ทวีป ส่วนจวินเฉ่า (Juncao) เทคโนโลยีที่พัฒนาในจีนซึ่งมุ่งใช้หญ้าแทนไม้เพื่อเป็นวัสดุในการเพาะเห็ด ได้รับการส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้ในประเทศกว่า 100 แห่ง
ส่วนในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จีนประกาศในปี 2020 ว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงจุดสูงสุดก่อนปี 2030 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 ซึ่งหมายความว่าจีนจะลดความเข้มข้นของการปล่อยคาร์บอนมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และจะเปลี่ยนผ่านจากการปล่อยคาร์บอนสูงสุดสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเป็นประวัติการณ์
รายงานเสริมว่าจีนได้จัดตั้งตลาดคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยจีนมีกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และชีวมวลสูงที่สุดในโลก ขณะที่การผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ของจีนยังครองอันดับหนึ่งของโลกเป็นเวลา 10 ปีติดต่อกัน
นอกจากนั้น จีนได้นำเสนอสินค้าสาธารณะระดับโลกที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาจีน และตอบโจทย์การพัฒนาของมนุษยชาติทั้งหมด
เมื่อปี 2021 จีนได้เสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลกเพื่อรับมือกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากภูมิภาคและประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้แผนริเริ่มนี้ ได้มีการจัดตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือกว่า 30 แห่ง และเปิดตัวโครงการกว่า 1,100 โครงการที่ครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการของสหประชาชาติ (UN)