(แฟ้มภาพซินหัว : เจ้าหน้าที่ทีมทำความสะอาดยืนมองอ่างเก็บน้ำตันเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 30 พ.ย. 2024)
เซินเจิ้น, 7 ก.พ. (ซินหัว) -- ทีมนักวิจัยของจีนได้เสนอกลยุทธ์ใหม่สำหรับการบำบัดน้ำอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นกลุ่มสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นข้อกังวลใหม่ (CECs) อาทิ สารกำจัดศัตรูพืช สารเติมแต่งในอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการฆ่าเชื้อ ซึ่งถูกตรวจพบในน้ำดื่มและตัวอย่างซีรัมในเลือดเพิ่มขึ้น
เทคโนโลยีการบำบัดน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันมักมีข้อจำกัดในการกำจัดสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นข้อกังวลใหม่ และมักเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เช่น การใช้พลังงานสูง การใช้สารเคมีในปริมาณมากเกินไป และการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มขึ้น
ทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน วิทยาเขตเซินเจิ้น เสนอว่าการผสานกระบวนการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ (riverbank filtration) เข้ากับระบบกรองน้ำแบบรีเวิร์ส ออสโมซิส (reverse osmosis) อาจช่วยลดความเสี่ยงด้านคุณภาพน้ำและสุขภาพที่เกิดจากสารเคมีปนเปื้อนที่เป็นข้อกังวลใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักวิจัยระบุว่าหลังจากใช้กระบวนการบำบัดน้ำที่นำเสนอนี้ ความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคที่ไม่ใช่มะเร็งในน้ำดื่มจะลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ
นอกจากนั้นการศึกษายังพบว่าการใช้เทคโนโลยีบำบัดน้ำด้วยเมมเบรนจะช่วยลดการใช้สารเคมีและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยืดอายุการใช้งานของโมดูลเมมเบรนและปรับปรุงการกู้คืนพลังงาน อีกทั้งสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชั้นบรรยากาศ ระบบนิเวศทางน้ำและดินตลอดวงจรการบำบัดน้ำอย่างมีนัยสำคัญ
ทีมนักวิจัยระบุว่าแนวทางเหล่านี้สามารถส่งเสริมการพัฒนาและการนำระบบบำบัดน้ำที่ปลอดภัย ยั่งยืน และปล่อยคาร์บอนต่ำไปประยุกต์ใช้ได้ โดยเฉพาะในภูมิภาคและประเทศที่มีเทคโนโลยีพลังงานสะอาดขั้นสูง และมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในกำลังการผลิตพลังงานโดยรวมสูง
อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications)