หนานหนิง, 3 ก.พ. (ซินหัว) -- คิลาวูซ เนสลิฮาน อินฟลูเอนเซอร์สาวชาวตุรกี (ทูร์เคีย) บอกเล่าประสบการณ์ระหว่างร่วมทริป "สัมผัสประสบการณ์ทักษะชงชา มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งอู๋โจว" ที่เมืองอู๋โจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน โดยเธอเผยว่าการเข้าร่วมทริปนี้ช่วยให้เข้าใจวัฒนธรรมชาของจีนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
เนสลิฮานใช้ชีวิตอยู่ที่จีนมานานกว่า 5 ปีแล้ว และเป็นอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังผู้ชื่นชอบอาหารและชา เธอได้เดินทางเยือนเมืองอู๋โจวเมื่อไม่นานนี้ เพื่อไขรหัสลับเกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ "ชาลิ่วเป่า" ว่ามีความพิเศษและกระบวนการผลิตอย่างไร
ชาลิ่วเป่าจัดเป็นชาดำ ถูกตั้งชื่อตามตำบลลิ่วเป่าของอำเภอชางอู๋ในเมืองอู๋โจว มีชื่อเสียงจากคุณลักษณะเด่น 4 ประการ ได้แก่ น้ำชาสีแดง รสชาติเข้ม เก็บนานยิ่งดี และกลิ่นหอมกลมกล่อม โดยเทคนิคการผลิตชาลิ่วเป่าแบบดั้งเดิมได้รับยกย่องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ระดับชาติในปี 2014
ทั้งนี้ "เทคนิคการทำชาจีนแบบดั้งเดิมและขนบธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง" ได้รับการขึ้นทะเบียนอยู่ในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแห่งองค์การยูเนสโก (UNESCO) ในปี 2022 ซึ่งกระบวนการผลิตชาลิ่วเป่าเป็นส่วนหนึ่งของการขึ้นทะเบียนนี้ด้วย
เนสลิฮานเล่าว่าการผลิตชาลิ่วเป่าใช้เวลานานกว่าที่คิด โดยระยะเวลาหมัก ขั้นตอนการผลิต และระยะเวลาเก็บรักษาที่แตกต่างกันมีผลต่อรสชาติและสีสันของน้ำชา เนสลิฮานได้ลองชิมชาลิ่วเป่าหลายแบบ ตั้งแต่ชาสดใหม่อายุ 1-3 ปี ชาระยะกลางอายุ 5 ปี จนถึงชาเก่าแก่อายุกว่า 10 ปี ยิ่งชาถูกบ่มนานเท่าไร รสชาติและสีสันยิ่งเข้มขึ้นเท่านั้น
ปัจจุบันชาลิ่วเป่าได้รับความนิยมทั้งในจีนและต่างประเทศ ข้อมูลสถิติระบุว่าผลผลิตและมูลค่าของชาลิ่วเป่าในเมืองอู๋โจวเพิ่มขึ้นสองเท่าระหว่างปี 2019-2023 โดยมีบริษัทชาเข้ามาดำเนินธุรกิจในเมืองอู๋โจวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเมืองอู๋โจวมุ่งเจาะตลาดต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ ผ่านการเข้าร่วมงานมหกรรมระดับนานาชาติ
ชาลิ่วเป่าถูกส่งออกสู่หลายประเทศและภูมิภาค เช่น ฝรั่งเศส มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย โดยข้อมูลจากศุลกากรเมืองอู๋โจวระบุว่ามูลค่าการส่งออกชาลิ่วเป่าของเมืองอู๋โจว ช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายนของปี 2024 อยู่ที่ 9.11 ล้านหยวน (ราว 43.2 ล้านบาท)
เนสลิฮานที่ได้เยี่ยมชมบริษัทชาหลายแห่งในเมืองอู๋โจวทิ้งท้ายว่าชาเป็นเหมือนนามบัตรใบหนึ่งของจีน และเธอจะกลับมาสัมผัสรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของชาลิ่วเป่าที่เมืองอู๋โจวอีกแน่นอน พร้อมหวังว่าชาลิ่วเป่าจะก้าวไกลไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนได้ลองลิ้มชิมรสชาติและกลิ่นหอมของชาจีนยิ่งขึ้น
(ภาพจากบริษัท อู๋โจว จงฉา ที อินดัสทรี จำกัด : คิลาวูซ เนสลิฮาน (ตรงกลาง) อินฟลูเอนเซอร์สาวชาวตุรกี กำลังเรียนรู้กรรมวิธีการชงชาลิ่วเป่าในเมืองอู๋โจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)