(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพเปรียเปรียบระหว่างฝาขวดน้ำ (ซ้าย) และตัวอย่างชีสจากยุคสัมฤทธิ์ 2 ชิ้น ที่ขุดพบจากหลุมศพในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน)
ปักกิ่ง, 29 ก.ย. (ซินหัว) -- ซากมัมมี่หลายตัวที่มีอายุ 3,500 ปี และขุดพบในเขตปกครองตนเองซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเมื่อ 20 ปีก่อน ได้กลับมาดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากคณะนักวิทยาศาสตร์สามารถเรียงลำดับสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) จากตัวอย่างชีส 3 ชิ้นที่ค้นพบจากหลุมฝังมัมมี่ ซึ่งไขความลับของผลิตภัณฑ์นมหมักที่มีความเก่าแก่มากที่สุดในโลก
เมื่อวันพุธ (25 ก.ย.) วารสารเซลล์ (Cell) เผยแพร่ผลการศึกษาที่แสดงภาพกลุ่มตัวอย่างชีสจากยุคสัมฤทธิ์ที่แต่ละชิ้นมีขนาดเท่าฝาขวดน้ำ โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ได้สกัดและวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากซากชีสโบราณและยืนยันว่าเป็นชีสคีเฟอร์ (kefir cheese) ซึ่งเป็นชีสที่ยังคงผลิตและบริโภคในปัจจุบัน โดยชีสโบราณที่ค้นพบผลิตด้วยกรรมวิธีหมักนมวัวและนมแพะแบบใช้เมล็ดคีเฟอร์ที่มีจุลินทรีย์อย่างแบคทีเรียแล็กติกแอซิดและยีสต์
ชุมชนวิทยาศาสตร์นานาชาติยกย่องผลการศึกษานี้เป็นความสำเร็จที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน บรรดาผู้เชี่ยวชาญชื่นชมว่าได้เปิด "ขอบเขตใหม่ในการศึกษาดีเอ็นเอโบราณ" โดยฟู่เฉี่ยวเม่ย นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังระดับโลกจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เผยว่าการศึกษานี้ช่วยให้ได้สังเกตว่าจุลินทรีย์ที่ใช้หมักชีสมีวิวัฒนาการตลอด 3,000 ปีที่ผ่านมาอย่างไร
นอกเหนือจากฟู่ที่กำลังทำงานด้านพันธุศาสตร์โบราณ โดยเฉพาะการสำรวจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของมนุษย์ด้วยดีเอ็นเอโบราณ จนได้รับฉายาจากเพื่อนร่วมงานว่า "นักสืบดีเอ็นเอ" ทีมวิจัยยังประกอบด้วยคณะนักโบราณคดีจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์จากปักกิ่ง
ฟู่กล่าวว่าการวิจัยชีสใช้เวลานานกว่า 11 ปี และกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จอยู่ที่วิธีตรวจดีเอ็นเอที่ออกแบบขึ้นมาเอง ซึ่งสามารถเพิ่มสัดส่วนของดีเอ็นเอเป้าหมายอย่างแบคทีเรียแล็กติกแอซิดจากน้อยกว่าร้อยละ 1 เป็นสูงสุดถึงร้อยละ 80 ของดีเอ็นเอทั้งหมด ช่วยให้สามารถสร้างจีโนมหรือข้อมูลทางพันธุกรรมของจุลินทรีย์ขึ้นมาใหม่อย่างสมบูรณ์
อนึ่ง อาหารหมักมีบทบาทสำคัญในชีวิตมนุษย์ยุคใหม่ แต่มีการวิจัยเกี่ยวกับวิวัฒนาการของจุลินทรีย์หมักอยู่จำกัด เพราะวัตถุที่ใช้วิจัยได้มีน้อย กอปรกับความท้าทายจากการสกัดดีเอ็นเอ
การตรวจทานผลการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญครั้งหนึ่งพบว่าการเรียงลำดับจีโนมมีนัยสำคัญมากเพราะเป็นสิ่งแรกจากตัวอย่างทางโบราณคดี ซึ่งมอบข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าเกี่ยวกับการอพยพและการแลกเปลี่ยนข้ามทุ่งหญ้าสเตปป์ยูเรเซียกลางและประวัติศาสตร์การหมักอาหาร มีส่วนส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษอย่างมาก
การค้นพบนี้ยังท้าทายความเชื่ออันเป็นที่ยอมรับในวงกว้างที่ว่าชีสคีเฟอร์แพร่หลายจากคอเคซัสเหนือสู่ยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ โดยเผยเส้นทางใหม่จากซินเจียงไปยังเอเชียตะวันออกตอนใน
หยางอี้หมิน อาจารย์มหาวิทยาลัยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ผู้เขียนร่วมของการศึกษานี้ กล่าวว่าการกู้ข้อมูลจากชีสนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น มันเหมือนเปิดมุมมองใหม่เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีตที่หายไปจากบันทึกทางประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ มีการค้นพบซากมัมมี่หลายตัวในหลุมฝังศพกลางทะเลทรายทากลิมากันเมื่อปี 2003 แต่ซากมัมมี่อันมีชื่อเสียงมากที่สุดคือมัมมี่หญิง "องค์หญิงเสี่ยวเหอ" เนื่องจากร่างของเธอยังคงมีสภาพดีอย่างน่าทึ่งแม้ถูกฝังมานานกว่า 3,500 ปี สามารถมองเห็นเส้นผมและขนตาของเธอได้อย่างชัดเจน ขณะลักษณะบนใบหน้าบางส่วน เช่น โหนกแก้มนูนสูง มีความคล้ายคลึงกับชาวตะวันตก ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าบรรพบุรุษของผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกสุดของซินเจียงเป็นผู้อพยพหรือไม่
คณะนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ได้สืบหาเหตุผลว่าทำไมถึงพบชีสจากซากมัมมี่ ทว่าการศึกษาหลายครั้งก่อนหน้านี้เผยว่ามีข้าว ข้าวฟ่าง สมุนไพร และชีสในสุสานมัมมี่โบราณ บ่งชี้ว่าชีสมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ยุคสัมฤทธิ์ โดยฟู่ทิ้งท้ายว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นและหวังว่าจะสำรวจจุลินทรีย์โบราณจากซากมนุษย์และโบราณวัตถุต่างๆ ได้มากขึ้นผ่านการใช้วิธีตรวจพันธุกรรม
(แฟ้มภาพซินหัว : กลุ่มพนักงานผลิตขนมปังชีสถ่าเฉิงที่โรงงานผลิตอาหารของบริษัทเจียงชวี่ในเมืองถ่าเฉิง เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 1 เม.ย. 2023)
(แฟ้มภาพซินหัว : ฟู่เฉี่ยวเม่ย นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน กำลังทำการทดลองกับตัวอย่างชีสโบราณ ณ ห้องปฏิบัติการสะอาดพิเศษของสถาบันฯ ในกรุงปักกิ่งของจีน)