ลาซา, 24 ม.ค. (ซินหัว) -- เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนรายงานว่าแหล่งโบราณวัตถุที่ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2019 เป็นแหล่งโบราณคดีริมทะเลสาบยุคหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่ใจกลางที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ทั้งยังตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมากที่สุดและมีอายุ
การค้นพบนี้เป็นผลจากโครงการขุดค้นระยะ 5 ปี (2020-2024) บริเวณแหล่งโบราณวัตถุหม่าปู้ชั่วในเมืองรื่อคาเจ๋อ ซึ่งดำเนินงานร่วมกันโดยสถาบันคุ้มครองโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมส่วนภูมิภาคและสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยหลานโจวและมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
แหล่งโบราณวัตถุแห่งนี้ตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเลราว 4,410-4,430 เมตร บริเวณริมฝั่งทะเลสาบหม่าปู้ชั่ว ครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 1.4 แสนตารางเมตร ซึ่งถูกขุดสำรวจราว 1,650 ตารางเมตรแล้ว โดยคณะนักโบราณคดีสามารถเก็บรวบรวมวัตถุจำนวนมาก รวมถึงตัวอย่างฟิโทลิธ (phytolith) หรือหินพืช เศษซากตกค้าง และดีเอ็นเอโบราณของดินตะกอนในพื้นที่
เซี่ยเก๋อวั่งตุย หัวหน้าทีมนักโบราณคดี กล่าวว่าผลวิเคราะห์และวิจัยบ่งชี้ว่าโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมของที่นี่มีอายุราว 2,000-4,800 ปี และแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษในแหล่งโบราณวัตถุหม่าปู้ชั่วเป็นคนจากเอเชียตะวันออกและกลุ่มชนพื้นเมืองบนที่ราบสูง
การขุดค้นและการวิจัยข้ามสาขาได้ระบุต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่ใจกลางทิเบตเมื่อราว 4,000 ปีก่อนเป็นครั้งแรก และการค้นพบนี้เป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการวิจัยทางโบราณคดียุคหินใหม่ของทิเบต ต่อจากซากโบราณข่ารั่วในเมืองชางตูและซากโบราณชวีก้งในเมืองลาซา
เซี่ยเก๋อวั่งตุยเสริมว่าแหล่งโบราณวัตถุหม่าปู้ชั่วเป็นตัวอย่างสำหรับทำความเข้าใจการใช้ประโยชน๋จากทะเลสาบของคนบนที่ราบสูงยุคก่อนประวัติศาสตร์ และการใช้กระบวนการทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมในการปรับตัวเข้ากับการพัฒนาระยะต่างๆ ผ่านการบูรณาการทางวัฒนธรรม
(ภาพจากสถาบันคุ้มครองและวิจัยโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมเขตปกครองตนเองทิเบต : แหล่งโบราณวัตถุหม่าปู้ชั่วในเมืองรื่อคาเจ๋อ เขตปกครองตนเองทิเบตทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)