(แฟ้มภาพซินหัว : หมู่ตึกสูงในย่านศูนย์กลางธุรกิจในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 12 ส.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 25 ก.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (24 ก.ย.) พานกงเซิ่ง ผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน (PBOC) หรือธนาคารกลางของจีน เผยว่าธนาคารฯ จะสร้างเครื่องมือเชิงนโยบายทางการเงินขึ้นใหม่ เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของตลาดหุ้น
พานแถลงว่าธนาคารกลางจะจัดตั้งโครงการแลกเปลี่ยน (swap) สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และบริษัทประกัน เพื่อเปิดรับสภาพคล่องจากธนาคารกลางโดยใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกัน โดยโครงการนี้จะเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทในการจัดหาเงินทุนและถือครองหุ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
พานระบุว่าบริษัทที่ได้รับสิทธิ์จะสามารถใช้สินทรัพย์ของตนเอง เช่น พันธบัตร กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF) และสินทรัพย์ที่ถือครองในดัชนีซีเอสไอ 300 (CSI 300) มาเป็นหลักประกันเพื่อแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาลและตั๋วเงินธนาคารกลาง โดยเงินทุนที่ได้รับจากการใช้เครื่องมือดังกล่าวจะใช้ได้กับการลงทุนเฉพาะในตลาดหุ้นเท่านั้น
พานกล่าวว่าขนาดของโครงการแลกเปลี่ยนนี้เบื้องต้นมีมูลค่าอยู่ที่ 5 แสนล้านหยวน (ราว 2.5 ล้านล้านบาท) และมีแนวโน้มจะขยายตัวในอนาคต นอกจากนี้ธนาคารกลางจะจัดตั้งโครงการปล่อยเงินกู้ใหม่พิเศษ (special re-lending) เพื่อชี้แนะธนาคารต่างๆ ปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทจดทะเบียนและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทเหล่านี้ เพื่อซื้อหุ้นคืนและเพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้น
โครงการปล่อยเงินกู้ใหม่เบื้องต้นจะมีมูลค่า 3 แสนล้านหยวน (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.75 สำหรับธนาคารเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถให้สินเชื่อแก่ลูกค้าได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.25 พานกล่าวด้วยว่าอาจมีการดำเนินการลักษณะนี้ซ้ำอีกในอนาคต โดยจะขึ้นอยู่กับสภาพตลาด และสามารถนำเครื่องมือนี้ไปปรับใช้กับบริษัทหลากหลายประเภทโดยไม่จำกัดลักษณะการถือครองบริษัทเหล่านั้น