(แฟ้มภาพซินหัว : อ่างเก็บน้ำตานเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 21 มี.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 13 ธ.ค. (ซินหัว) -- โครงการผันน้ำใต้สู่เหนือของจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ได้ผันน้ำจากภาคใต้ที่มีน้ำมากขึ้นสู่ภาคเหนือที่ค่อนข้างแห้งแล้งผ่านโครงการฯ สายกลางและสายตะวันออกตลอดสิบปีที่ผ่านมามากกว่า 7.67 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนในประเทศมากกว่า 185 ล้านคน
หวังเต้าสี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำของจีน แถลงข่าวว่าโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือได้ปรับปรุงภูมิทัศน์การกระจายทรัพยากรน้ำของจีน รวมถึงสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม และนิเวศวิทยาเพิ่มขึ้น
กระทรวงฯ ระบุว่าโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือได้สนับสนุนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในภาคเหนือของจีนกว่า 16 ล้านล้านหยวน (ราว 75 ล้านล้านบาท) หากอ้างอิงหลักฐานที่ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมทุก 10,000 หยวน (ราว 46,900 บาท) ต้องใช้น้ำ 46.9 ลูกบาศก์เมตร
อนึ่ง การพัฒนาแนวคิดของโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือเริ่มต้นช่วงทศวรรษ 1950 และโครงการฯ สายกลางและสายตะวันออกเริ่มต้นดำเนินงานระยะแรกช่วงปลายปี 2014 โดยขนส่งน้ำจากภาคใต้ที่มีน้ำมากขึ้นสู่ภาคเหนือที่ซึ่งครั้งหนึ่งประชาชนหลายร้อยล้านคนเผชิญ "ภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรงขั้นวิกฤติ" ตามมาตรฐานของสหประชาชาติ (UN)
หวังกล่าวว่าปริมาณการขนส่งน้ำรายปีของโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือได้เพิ่มขึ้นจากกว่า 2 พันล้านลูกบาศก์เมตรเป็น 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นประโยชน์กับ 45 เมืองขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางของโครงการฯ
ขณะเดียวกันโครงการผันน้ำใต้สู่เหนือยังส่งเสริมการคุ้มครองสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาด้วยการจ่ายน้ำเพื่อเติมน้ำทางนิเวศวิทยาสะสมกว่า 1.18 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วยยับยั้งการหดตัวของระดับน้ำใต้ดินในภาคเหนืออย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โครงการผันน้ำใต้สู่เหนือตามการออกแบบประกอบด้วย 3 สาย ตัดผ่านพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสายหลัก 4 แห่งของจีน ได้แก่ แม่น้ำแยงซี แม่น้ำหวยเหอ แม่น้ำเหลือง และแม่น้ำไห่เหอ โดยโครงการฯ สายกลาง ซึ่งมีความโดดเด่นมากที่สุดเพราะขนส่งน้ำสู่กรุงปักกิ่ง มีจุดเริ่มต้นที่อ่างเก็บน้ำตานเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน
น้ำดื่มของปักกิ่งส่วนใหญ่นั้นขนส่งมาไกลจากตานเจียงโข่วมากกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยมวลน้ำไหลขึ้นเหนือผ่านคลองและท่อส่ง ลอดใต้แม่น้ำเหลือง และไหลถึงโรงบำบัดน้ำของกรุงปักกิ่งในท้ายที่สุด ซึ่งปัจจุบันน้ำที่ใช้บริโภคในย่านเมืองของปักกิ่งเกือบร้อยละ 80 มาจากตานเจียงโข่ว
สำหรับโครงการฯ สายตะวันออก ขนส่งน้ำจากมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีนไปยังหลายภูมิภาค เช่น เทศบาลนครเทียนจินและมณฑลซานตง ส่วนสายตะวันตกอยู่ในขั้นตอนวางแผนและยังไม่ได้ก่อสร้าง