(แฟ้มภาพซินหัว : คนเยี่ยมชมยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองที่การประชุมยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะโลก ปี 2024 ในกรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 17 ต.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 13 พ.ย. (ซินหัว) -- แผนปฏิบัติการที่ร่วมเผยแพร่โดยกระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน ซึ่งวางมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการขนส่งและลดต้นทุนโลจิสติกส์ ระบุว่าจีนจะเร่งนำร่องการเข้าถึงตลาดยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะและอนุญาตยานยนต์เหล่านี้วิ่งบนท้องถนน รวมถึงจะส่งเสริมการสาธิตและการประยุกต์ใช้การขับขี่อัตโนมัติและยานยนต์ไร้คนขับในพื้นที่สำคัญ เช่น ภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และเขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า
จีนจะเร่งการก่อสร้างทางหลวง ทางน้ำ ท่าด่าน และศูนย์กลางที่มีความเป็นอัจฉริยะ พร้อมส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ขณะสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ทางสังคมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะลดลงอยู่ที่ราวร้อยละ 13.5 ภายในปี 2027 ซึ่งทำให้มูลค่าการขนส่งสินค้าทางรางระดับประเทศเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2023 และปริมาณการขนส่งทางราง-ทางน้ำผ่านท่าด่านของประเทศเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15 ต่อปี
อนึ่ง สหพันธ์โลจิสติกส์และการจัดซื้อแห่งประเทศจีนระบุว่าประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ของจีนยังคงพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2023 โดยสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ทางสังคมต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 14.4 ลดลง 0.3 จุดจากปี 2022
ข้อมูลจากการประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับการขนส่งหลายรูปแบบผ่านท่าด่าน ซึ่งจัดขึ้นที่เทศบาลนครเทียนจินเมื่อเดือนตุลาคม ระบุว่าปริมาณการขนส่งหลายรูปแบบทางราง-ทางน้ำ ผ่านท่าด่านของจีนในปี 2023 สูงเกิน 11.7 ล้านทีอียู (TEU : หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบปีต่อปี