(แฟ้มภาพซินหัว : นักข่าวถ่ายภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวะในจังหวัดมิยางิของญี่ปุ่น วันที่ 5 เม.ย. 2011)
โตเกียว, 29 ต.ค. (ซินหัว) -- สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวะทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นจะกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในวันอังคาร (29 ต.ค.) ซึ่งถือเป็นการกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ครั้งแรกตั้งแต่พื้นที่ดังกล่าวเผชิญผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว ปี 2011
รายงานระบุว่านี่ยังเป็นการกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือดประเภทเดียวกับเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่เสียหาย นับตั้งแต่เกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวดังกล่าว ซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวะจนสูญเสียแหล่งจ่ายไฟภายนอกและน้ำท่วมชั้นใต้ดิน
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวะ ซึ่งบริหารงานโดยโทโฮคุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tohoku Electric Power) ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยหลังวิกฤตฟุกุชิมะ และคนท้องถิ่นยินยอมให้กลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง
โทโฮคุ อิเล็กทริก พาวเวอร์ ตั้งเป้าหมายเริ่มต้นผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และเริ่มต้นดำเนินงานเชิงพาณิชย์ประมาณเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นผลักดันการกลับมาเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์เพื่อช่วยรักษาความมั่นคงทางพลังงานภายในประเทศ แม้เกิดข้อวิตกกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ในหมู่สาธารณชนอยู่ก็ตาม
นอกจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์โอนากาวะ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าทางตอนกลาง ตะวันตก และตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น รวม 6 แห่ง จำนวน 12 ตัว กลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหลังจากผ่านมาตรฐานความปลอดภัยอันเข้มงวดยิ่งขึ้น