(แฟ้มภาพซินหัว : หลุมศพรหัสเอ็ม27 บริเวณแหล่งโบราณคดีหวังจวงในเมืองหย่งเฉิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
เจิ้งโจว, 15 ต.ค. (ซินหัว) -- มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีนค้นพบหลุมศพที่มีความเก่าแก่ราว 5,000 ปี ซึ่งคาดว่าเป็นหลุมฝังพระศพของกษัตริย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งสำคัญในท้องถิ่น พร้อมกับขุดพบโบราณวัตถุมากกว่า 350 ชิ้น
รายงานระบุว่าหลุมศพแห่งนี้ตั้งอยู่ที่แหล่งโบราณคดีหวังจวงในเมืองหย่งเฉิง ครอบคลุมพื้นที่รวมกว่า 17 ตารางเมตร ซึ่งถือเป็นหลุมศพที่มีขนาดใหญ่มากในยุคสมัยนั้น
แหล่งโบราณคดีหวังจวงอยู่ในช่วงกลางและช่วงปลายของวัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในยุคหินใหม่ตอนปลาย (4000-2600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนาน มหาวิทยาลัยครูนครหลวงในปักกิ่ง และสถาบันอื่นๆ ร่วมขุดสำรวจที่นี่ตั้งแต่ปี 2023
จูกวงหัว รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการค้นพบล่าสุดบ่งชี้ว่าแหล่งโบราณคดีหวังจวงไม่ใช่ที่ตั้งถิ่นฐานธรรมดา แต่เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรในยุคก่อนประวัติศาสตร์
สำหรับหลุมศพที่ค้นพบมีขนาดกว้าง 3.47-3.68 เมตร และยาว 4.52-4.8 เมตร ฝังโลงศพอยู่ทั้งข้างในและข้างนอก พร้อมวัตถุพิธีศพมากมาย ได้แก่ เครื่องปั้นดินเผากว่า 100 ชิ้น เครื่องประดับหยกขนาดเล็กเกือบ 200 ชิ้น เครื่องมือทำจากกระดูก และซากสัตว์อย่างขากรรไกรล่างของหมูอันเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวย
จูกล่าวว่าหลุมศพโบราณแห่งนี้มีสภาพเสียหายมาก โครงกระดูกเจ้าของหลุมศพภายในโลงไม้ส่วนใหญ่หายไป เหลือแค่กระดูกนิ้วเท้าไม่กี่ชิ้น เครื่องประดับหยกขนาดเล็กที่กระจายอยู่ข้างในและข้างนอกโลง และใบมีดหินประกอบพิธีจำนวนมาก ถูกทำให้แตกหักอย่างจงใจ
จูเสริมว่าการค้นพบนี้แสดงถึงการจงใจทำลายหลุมศพหลังจากฝังเพียงไม่นาน ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
หลิวไห่วั่ง หัวหน้าทีมนักโบราณคดีร่วม กล่าวว่ามีการค้นพบหลุมศพใหม่ที่แหล่งโบราณคดีหวังจวงในปี 2024 จำนวน 45 หลุม ซึ่งถูกขุดสำรวจแล้ว 27 หลุม โดยบางหลุมเป็นของชนชั้นสูง มีโบราณวัตถุอยู่มากมาย และหลายหลุมฝังขากรรไกรล่างของหมู
ขณะเดียวกันมีการขุดพบโบราณวัตถุพิธีศพจากแหล่งโบราณคดีหวังจวงในปี 2024 มากกว่า 1,000 ชิ้น ทั้งเครื่องปั้นดินเผาและชิ้นหยก โดยเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือหิน และชิ้นหยก สะท้อนการแบ่งชนชั้นแรงงานและระดับผลิตภาพในยุคสมัยนั้น และจำนวนวัตถุพิธีศพผูกโยงกับขนาดหลุมศพ บ่งชี้การแบ่งชนชั้นทางสังคมที่ชัดเจน
สิ่งที่ทำให้คณะนักโบราณคดีตื่นเต้นยิ่งกว่าคือโบราณวัตถุที่ขุดพบจากหลุมศพล่าสุด เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีหวังจวงเป็นจุดหลอมรวมวัฒนธรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งหลากหลายวัฒนธรรมมาซ้อนทับและแลกเปลี่ยนอิทธิพลกัน
หลี่ซินเหว่ย รองผู้อำนวยการสถาบันประวัติศาสตร์โบราณ สังกัดสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าคนยุคโบราณได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมในภูมิภาคตะวันออกและตอนกลางอย่างชัดเจน รวมถึงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซี
จูเสริมว่าธรรมเนียมประเพณีที่พบจากหลุมศพล่าสุด เช่น การฝังฟันของกวางน้ำและกระดูกท้ายทอยที่ผิดรูปของผู้ตาย สอดคล้องกับการฝังศพของวัฒนธรรมต้าเหวินโข่วฝั่งตะวันออก
อย่างไรก็ดี การขุดสำรวจยังพบโบราณวัตถุจากวัฒนธรรมหย่างเสาร่วมสมัย เช่น ไหปากเล็กเขียนสีที่ก้นและไหปากเล็ก ซึ่งบ่งชี้การมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกันระหว่างวัฒนธรรมต้าเหวินโข่วกับวัฒนธรรมหย่างเสาในภูมิภาค
คณะนักโบราณคดีกล่าวว่าคนที่อาศัยอยู่บริเวณแหล่งหวังจวงในยุคโบราณมีจิตวิญญาณของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และความกล้าหาญทางศิลปะ พวกเขาผสมผสานอิทธิพลทางวัฒนธรรมต่างๆ อย่างมีทักษะ เพื่อสร้างเครื่องปั้นดินเผาที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว
หลี่เสริมว่าการค้นพบเหล่านี้พิสูจน์ถึงการแลกเปลี่ยนเบื้องต้นของอารยธรรมจีนยุคแรก ถือเป็นหลักฐานแสดงความหลากหลายโดยธรรมชาติของอารยธรรมจีน และแหล่งโบราณคดีหวังจวงเป็นตัวอย่างสำคัญในการศึกษาการผสมผสานทางวัฒนธรรมของภูมิภาคต่างๆ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
(แฟ้มภาพซินหัว : โบราณวัตถุงาช้างที่ขุดพบจากหลุมศพรหัสเอ็ม27 บริเวณแหล่งโบราณคดีหวังจวงในเมืองหย่งเฉิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)
(แฟ้มภาพซินหัว : โบราณวัตถุที่ขุดพบจากหลุมศพรหัสเอ็ม27 บริเวณแหล่งโบราณคดีหวังจวงในเมืองหย่งเฉิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน)