แคนเบอร์รา, 21 ต.ค. (ซินหัว) -- วันจันทร์ (21 ต.ค.) สภาวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติออสเตรเลีย เผยแพร่แนวปฏิบัติฉบับร่างใหม่ซึ่งแนะนำให้ลดเกณฑ์การรับ "สารเคมีตลอดกาล" (forever chemicals) ที่ปนเปื้อนมาในน้ำดื่มเข้าสู่ร่างกาย โดยมุ่งแก้ไขเกณฑ์ความปลอดภัยของสารพีเอฟเอเอส (PFAS) สี่ชนิดในน้ำดื่ม
อนึ่ง สารพีเอฟเอเอสหรือที่เรียกกันว่า "สารเคมีตลอดกาล" เนื่องจากสารเคมีเหล่านี้คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ยาวนาน เป็นชื่อเรียกรวมของสารเคมีมากกว่า 10,000 ชนิดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง เสื้อผ้า และอุปกรณ์ทำอาหาร
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลีย ระบุว่าการสัมผัสกับสารพีเอฟโอเอ (PFOA) และสารพีเอฟโอเอส (PFOS) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มพีเอฟเอเอส เชื่อมโยงกับความเสี่ยงการป่วยโรคมะเร็งอัณฑะและมะเร็งไตที่เพิ่มขึ้น
แนวปฏิบัติฉบับร่างดังกล่าวระบุให้เกณฑ์ความปลอดภัยของสารพีเอฟโอเอในน้ำดื่มลดลงจาก 560 นาโนกรัมต่อลิตร เป็น 200 นาโนกรัมต่อลิตร ขณะที่เกณฑ์สำหรับสารพีเอฟโอเอสจะลดลงจาก 70 นาโนกรัมต่อลิตร เป็น 4 นาโนกรัมต่อลิตร
เมื่อเดือนธันวาคม 2023 หน่วยงานวิจัยมะเร็งนานาชาติประกาศให้สารพีเอฟโอเอเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ส่วนพีเอฟโอเอเป็นสารที่อาจก่อมะเร็ง
สภาฯ ยังกำหนดเกณฑ์สำหรับสารเพอร์ฟลูออโรเฮกเซน ซัลโฟเนต (PFHxS) ให้อยู่ที่ 30 นาโนกรัมต่อลิตร และเพอร์ฟลูออโรบิวเทนซัลโฟนิก (PFBS) อยู่ที่ 1,000 นาโนกรัมต่อลิตร โดยอ้างอิงจากหลักฐานที่บ่งชี้ถึงผลกระทบของต่อมไทรอยด์
สตีฟ เวสเซลลิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสภาฯ ระบุว่าขีดจำกัดใหม่นี้กำหนดขึ้นโดยอิงจากหลักฐานในการศึกษาทดลองกับสัตว์
ทั้งนี้ สภาฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 22 พ.ย. โดยหลังจากนั้น รัฐบาลจะตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับการนำเกณฑ์ใหม่นี้มาใช้
(แฟ้มภาพซินหัว : ท่าเรือเซอร์คูลาร์คีย์ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย วันที่ 20 ส.ค. 2021)