หนานชาง, 18 ต.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของจีนค้นพบซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ในมณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน ซึ่งฟองหนึ่งมีความยาวเพียง 29 มิลลิเมตร ทำให้ครองตำแหน่งซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในโลก
ทีมนักวิจัยจากสถาบันสำรวจและวิจัยทางธรณีวิทยามณฑลเจียงซี มหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (อู่ฮั่น) และสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ได้ศึกษานาน 3 ปี และยืนยันว่าซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ 6 ฟอง มาจากยุคครีเทเชียสตอนปลายหรือกว่า 80 ล้านปีก่อน
อนึ่ง ซากฟอสซิลไข่สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่เรียงตัวอย่างไม่เป็นระเบียบนี้ถูกค้นพบที่พื้นที่ก่อสร้างในตำบลเหมยหลิน เขตก้านเซี่ยน เมืองก้านโจว ตั้งแต่ปี 2021
โหลวฝ่าเซิง หัวหน้าวิศวกรประจำสถาบันสำรวจและวิจัยทางธรณีวิทยามณฑลเจียงซี กล่าวว่าทีมนักวิจัยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดและกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบกระจายกลับในการวิเคราะห์โครงสร้างระดับจุลภาคของเปลือกไข่ และตรวจพบว่าสัณฐานวิทยาและโครงสร้างจุลภาคบ่งชี้เป็นไดโนเสาร์เทโรพอดที่ไม่ใช่กลุ่มนก
ไข่ฟองที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดมีความยาวมากที่สุดเพียง 29 มิลลิเมตร ทำให้ครองสถิติใหม่ในการเป็นซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดในโลก โดยซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในโลกก่อนหน้านี้ถูกค้นพบในมณฑลเจ้อเจียง มีขนาดราว 45.5 x 40.4 x 34.4 มิลลิเมตร
โหลวเสริมว่าการค้นพบครั้งล่าสุดนี้ที่เผยแพร่ผ่านวารสารฮิสทอรริคัล ไบโอโลจี (Historical Biology) ทางออนไลน์เมื่อวันจันทร์ (14 ต.ค.) ได้เพิ่มความหลากหลายของไข่ไดโนเสาร์จากยุคครีเทเชียสตอนปลาย และมอบข้อมูลเชิงลึกอันล้ำค่าเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไดโนเสาร์เทโรพอดในยุคครีเทเชียสตอนปลายด้วย
โหลวทิ้งท้ายว่าทีมนักวิจัยจะใช้เทคโนโลยีซีทีสแกนระดับจุลภาคมาประกอบโครงสร้างของฟอสซิลไข่ส่วนที่ถูกฝัง ศึกษากระบวนการก่อตัว และเจาะจงชนิดของไดโนเสาร์ที่วางไข่เหล่านี้ รวมถึงวิธีการสืบพันธุ์ของไดโนเสาร์ชนิดนี้
(ภาพจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (อู่ฮั่น) : ซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่ค้นพบในเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน)
(ภาพจากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (อู่ฮั่น) : ซากฟอสซิลไข่ไดโนเสาร์ชนิดใหม่ที่ค้นพบในเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน)