ปักกิ่ง, 14 ก.ค. (ซินหัว) -- จีนสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วยการเปิดตัวกังหันลมระบบขับเคลื่อนตรงแบบลอยน้ำที่ทรงพลังที่สุดในโลก โดยบริษัท ไชน่า หัวเหนิง กรุ๊ป จำกัด (CHNG) หนึ่งในผู้พัฒนา ยืนยันความสำเร็จกับสำนักข่าวซินหัวเมื่อวันเสาร์ (12 ก.ค.) ที่ผ่านมา
รายงานระบุว่ากังหันลม ขนาด 17 เมกะวัตต์ ซึ่งร่วมพัฒนาโดยไชน่า หัวเหนิง กรุ๊ป และบริษัท ตงฟาง อิเล็กทริก คอร์เปอเรชัน จำกัด (DEC) ถูกนำออกจากสายการผลิตในเมืองฝูชิงของมณฑลฝูเจี้ยนเมื่อวันพฤหัสบดี (10 ก.ค.) โดยหน่วยเดี่ยวสามารถผลิตไฟฟ้าสะอาด 68 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเพียงพอสำหรับ 40,000 ครัวเรือน
เครื่องจักรกลใหญ่ยักษ์นี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางใบพัด 262 เมตร พร้อมพื้นที่กวาดลมราว 53,000 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอลมาตรฐาน 7.5 สนาม และจุดศูนย์กลางของกังหันลมสูงถึง 152 เมตร หรือเทียบเท่าตึกสูง 50 ชั้น โดยมีอัตราความพร้อมดำเนินงานสูงเกินร้อยละ 99
ไชน่า หัวเหนิง กรุ๊ป เผยว่ามีการทดสอบใช้งานกังหันลมนี้ในน่านน้ำใกล้เมืองหยางเจียง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งสามารถทนต่อสภาพอากาศทางทะเลที่รุนแรง ทั้งคลื่นสูงกว่า 24 เมตร และพายุไต้ฝุ่นระดับ 17 โดยเทคโนโลยีรักษาการทรงตัวเฉพาะตัวช่วยให้ผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องแม้แท่นลอยเอนเอียงอย่างมาก
หลิวซิน ผู้อำนวยการฝ่ายพลังงานลมนอกชายฝั่งจากสถาบันวิจัยพลังงานสะอาดไชน่า หัวเหนิง กล่าวว่าความสามารถปรับตัวของกังหันลมมาจากระบบตรวจจับอัจฉริยะเชิงบูรณาการที่ช่วยให้เกิดการควบคุมการทรงตัวโดยรวมเพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพการดำเนินงานในสภาพแวดล้อมทะเลลึกอันซับซ้อน
ทีมวิจัยและพัฒนากังหันลมนี้ยังสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านระบบพลังงานลมแบบลอยน้ำควบคู่เทคโนโลยีจำลองแบบและเทคนิคทดสอบต้นแบบที่มีความเที่ยงตรงสูง โดยส่วนประกอบหลักทั้งหมด ได้แก่ ใบพัด เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และหม้อแปลง ล้วนผลิตภายในจีน และมีการออกแบบเพลาหลักที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่รุ่นแรกของจีน
อนึ่ง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เปิดทางสู่การใช้ทรัพยากรลมในทะเลลึกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน สังกัดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ประเมินว่าน่านน้ำใกล้ฝั่ง (ลึก 5-50 เมตร) มีกำลังการผลิตพลังงานลมที่พัฒนาได้ในทางเทคนิคราว 500 กิกะวัตต์ แต่น่านน้ำทะเลลึกมีศักยภาพสูงกว่า 3-4 เท่า
ขณะข้อมูลจากสภาพลังงานลมโลก (GWEC) ระบุว่ากว่าร้อยละ 80 ของทรัพยากรลมนอกชายฝั่งอยู่ในน่านน้ำที่ลึกเกิน 60 เมตร ซึ่งเทคโนโลยีการผลิตพลังงานลมแบบลอยน้ำจะช่วยปลดล็อกศักยภาพของพลังงานลมในน่านน้ำลึกเพิ่มเติม
สภาฯ เสริมว่ากำลังการผลิตติดตั้งพลังงานลมแบบลอยน้ำทั่วโลกอยู่ที่ราว 278 เมกะวัตต์ เมื่อนับถึงสิ้นปี 2024 โดยนอร์เวย์ สหราชอาณาจักร จีน และฝรั่งเศส เป็นผู้นำ 4 อันดับแรก
(แฟ้มภาพซินหัว : กังหันลมระบบขับเคลื่อนตรงแบบลอยน้ำที่ทรงพลังที่สุดในโลกในเมืองฝูชิง มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน)