ซิดนีย์, 12 ก.ค. (ซินหัว) -- ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย พัฒนาอุปกรณ์นวัตกรรมใหม่ที่ผสานการใช้คลื่นอัลตราซาวด์เข้ากับเทคโนโลยีการถ่ายภาพขั้นสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการส่งยาเข้าสู่สมอง โดยทีมนักวิจัยระบุว่าเทคโนโลยีใหม่นี้อาจปฏิวัติการรักษาโรคทางระบบประสาทเสื่อม อาทิ โรคอัลไซเมอร์และโรคพาร์กินสัน ซึ่งการส่งยาไปยังบริเวณสมองที่ต้องการยังคงเป็นความท้าทายหลักในปัจจุบัน
วันศุกร์ (11 ก.ค.) มหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่าเทคโนโลยีนี้ช่วยให้สามารถถ่ายภาพเซลล์สมองแบบตามเวลาจริงหลังจากใช้คลื่นอัลตราซาวด์ ทำให้สามารถส่งยาเฉพาะจุดผ่านแนวกั้นเลือด-สมอง และติดตามการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ได้รับการรักษา ตลอดจนสามารถสังเกตว่ามีการตอบสนองและฟื้นตัวอย่างไรได้
แนวกั้นเลือด-สมองเป็นด่านป้องกันที่ขัดขวางยาจำนวนมากไม่ให้เข้าสู่สมอง แต่เทคโนโลยีนี้ใช้กระบวนการที่เรียกว่าโซโนพอเรชัน (sonoporation) โดยใช้ฟองอากาศขนาดเล็กที่กระตุ้นด้วยการอัลตราซาวด์ เพื่อเปิดรูขนาดเล็กชั่วคราว ทำให้ยาเข้าสู่เนื้อเยื่อสมองได้
ปราเนช ปัดมานาพัน ผู้เขียนหลักของงานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์และสถาบันสมองควีนส์แลนด์ของมหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยว่าเป้าหมายของทีมวิจัยคือการเพิ่มอัตราการดูดซึมของยาเข้าสู่สมอง เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงราวร้อยละ 1-2 ของยาขนาดโมเลกุลเล็กเท่านั้นที่สามารถไปถึงสมองได้
งานวิจัยนี้ ซึ่งเผยแพร่ในวารสารด้านเทคโนโลยีการปลดปล่อยยา (Journal of Controlled Release) ระบุว่าระบบที่พัฒนาขึ้นเองนี้ใช้เวลากว่า 5 ปีในการออกแบบและสร้างขึ้น โดยสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์และโมเลกุลในแต่ละเซลล์หลังจากได้รับอัลตราซาวด์ ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์และปรับปรุงวิธีการส่งยาให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยยังระบุว่านอกจากการนำไปใช้ในทางประสาทวิทยาแล้ว เทคโนโลยีนี้อาจเปิดแนวทางใหม่ให้กับการรักษาโรคด้วยวิธีโซโนพอเรชันในสาขาอื่นอย่างโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
(ภาพจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ : นักวิจัยทำงานในห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เมืองบริสเบนของออสเตรเลีย วันที่ 1 เม.ย. 2020)